วานเรศบวรอาสน์

พระที่นั่งกง คือ พระราชอาสน์หรือที่นั่งขนาดเล็ก ใช้เป็นทั้งพระราชบัลลังก์และพระราชยาน ตั้งชื่อตามราวพาดพระกร ซึ่งโค้งเป็นวงเหมือนกงรถโอบด้านหลังไว้ติดกับกระดานพิง มีโครงเป็นไม้แกะสลักลงรักปิดทอง สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หลักฐานทางประวัติศาสตร์ปรากฏว่าเคยใช้เป็นพระที่นั่งทรงบนเรือคราวเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค และใช้เป็นพระราชยานในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในเวลาต่อมา

“วานเรศบวรอาสน์” หรือพระที่นั่งกงคร่ำทององค์นี้ สร้างจำลองแบบจากพระที่นั่งกงองค์เดิม โดยเปลี่ยนโครงสร้างเป็นเหล็กคร่ำทองทั้งองค์ ความพิเศษ คือ องค์พระที่นั่งเป็นสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองลดชั้นถึงฐานที่ประทับ มีฐานสองชั้น ชั้นล่างเป็นฐานสิงห์ ชั้นบนเป็นหน้ากระดานบัวบนประดับรูปพญาลิงรอบท้องไม้แทนความหมายของปีวอก ซึ่งเป็นพระนักษัตรประจำปีพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ส่วนกระดานปากฐานส่วนบนประดับกระจังปฏิญาณทั้งสามด้าน ด้านหลังมีกระดานพิงประกอบกับราวกงมีก้านบัวรับ ลวดลายงานคร่ำทองเป็นลายไทยที่ออกแบบผูกลายขึ้นมาใหม่และยังใช้เทคนิคตกแต่งปีกแมลงทับด้วย

การตกแต่งด้วยรูปสลักพญาลิงนั้นมีมาแต่โบราณ หลักฐานที่พบคือ ที่ฐานพระพุทธรูปพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และฐานพระพุทธรูปพระพุทธเลิศหล้านภาลัยที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง

วาระจัดทำ
เนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา 12 สิงหาคม 2555 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ 28 กรกฎาคม 2555 (เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร)

ขนาด : กว้าง 1.05 ม. ยาว 1.53 ม. สูง 1.70 ม.
จำนวนช่างฝีมือ : 80 คน
ระยะเวลาจัดทำ : 1 ปี 4 เดือน 9 วัน