เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์จำลอง

เรือพระที่นั่ง คือ เรือหลวงที่จัดเป็นพระราชพาหนะสำหรับพระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทางชลมารค อาทิ การพระราชพิธีบำเพ็ญพระกุศล การพระราชสงคราม และการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร ซึ่งเรียกว่า กระบวน พยุหยาตราทางชลมารค

เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์จำลององค์นี้ สร้างจำลองมาจาก เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ ในรัชกาลที่ 1 ซึ่งทรงสร้างตามขบวนเรือพระที่นั่งสมัยกรุงศรีอยุธยา เรือพระที่นั่งนิยมสร้างหัวเรือเป็นรูปสัตว์ ซึ่งหงส์เป็นพาหนะของพระพรหม ซึ่งเป็นผู้สร้างเปรียบเสมือน พระมหากษัตริย์ ด้วยเหตุนี้จึงนำมาสร้างเป็นหัวเรือพระที่นั่งทรงของพระมหากษัตริย์

สถาบันสิริกิติ์ จัดทำเรือพระที่นั่งจำลองนี้มีลำเรือเป็นถมทอง ศีรษะหงส์เป็นทองคำสลักดุนลงยา ตาและเขี้ยวประดับเพชร ทรงพู่ห้อยพุ่มทองคำระย้าประดับเพชร เคราหรือพรายหางเป็นทองคำ กลางลำเรือทอดบุษบกพิมานทองคำลงยาประดับเพชร ขนาบด้วยฉัตรปรุทอง 7 ชั้นและ 5 ชั้นทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ม่านบุษบกประดิษฐ์ด้วยห่วงทองคำถักร้อยเป็นลายแก้วชิงดวง ท้ายเกรินปักธงฉลุทองคำลงยาอย่างประณีต

ช่างสถาบันสิริกิติ์พัฒนาผลงานชิ้นนี้พร้อมกับการฝึกทักษะของช่างฝีมือ โดยเริ่มจากงานชิ้นเล็กลายไม่ซับซ้อนจากถาดรูปเรือหงส์จนสามารถสร้างสรรค์จำลองกระบวนเรือพยุหยาตรา ที่มีความงดงามสามารถรักษาเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของชาติให้คนรุ่นหลังได้ชมต่อไป

วาระจัดทำ
เนื่องในโอกาสมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พุทธศักราช 2549 และในโอกาสมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา พุทธศักราช 2550

ขนาด : กว้าง 23 ซม. ยาว 3.5 ม. สูง 71 ซม.
จำนวนช่างฝีมือ : 108 คน
ระยะเวลาจัดทำ : 2 ปี 9 เดือน