ฐานถมเงิน (ถมกลับ)

ขันถมทองลายมงคล 108 พร้อมกี๋รอง ขึ้นรูปสลักลายเป็นพญานาคลอยตัว ตั้งบนแท่นฐานสิงห์จำหลักไม้ ด้านบนฐานไม้ปูทาบด้วยแผ่นเงินลงถมที่ลายเถาไม้เลื้อย ซึ่งเรียกว่า ถมกลับ

การทำถมกลับ ลงถมที่ลวดลายนี้ เป็นเทคนิคการลงถมที่สถาบันสิริกิติ์พัฒนางานฝีมือขึ้นมาใหม่ให้เป็นงานศิลป์สมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยการเขียนลายเพื่อลงถมไปตามลวดลายแทนการลงถมที่พื้นหลัง และมีลวดลายเป็นเงินหรือเงินทาทองตามแบบโบราณ

ทั้งนี้ วิธีการลงถมแบบดั้งเดิมเกิดจากการที่ช่างฝีมือสลักพื้นรอบนอกลวดลายหรือเขียนลายแล้วนำไปกัดกรดเพื่อให้ผิวเงินบริเวณที่ไม่ใช่ลวดลายต่ำลง และเมื่อลงถมตามพื้นที่ต่ำลงจนเต็มเสมอลวดลายแล้ว จะเกิดเป็นลวดลายเงินเด่นชัดบนพื้นดำของยาถม แต่ในวิธีที่กลับกัน การลงถมบนแผ่นถมกลับที่ปูบนฐานไม้รองขันมงคล 108 นี้ จะเห็นว่าลวดลายเถาไม้เลื้อยที่ลงถม สีดำนั้น เกิดจากการที่ช่างสถาบันสิริกิติ์เขียนลายกัดกรดเพื่อให้พื้นเงินบริเวณที่เป็นลวดลายต่ำลง แล้วลงยาถมไปเติมตามร่องลายให้เต็มเสมอผิวพื้น เกิดเป็นลวดลายสีดำบนพื้นแผ่นเงิน

วาระจัดทำ
เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ 12 สิงหาคม 2535

ขนาดของฐานไม้ : กว้าง 1.28 ม. ยาว 1.56 ม. หนา 25.5 ซม.
จำนวนช่างฝีมือทำฐานไม้ : 55 คน
ระยะเวลาจัดทำฐานไม้ : 77 วัน

ขนาดแผ่นเงินลงถมลวดลาย (ถมกลับ) : กว้าง 1.10 ม. ยาว 1.38 ม.
จำนวนช่างฝีมือทำแผ่นเงินลงถมลวดลาย (ถมกลับ) : 15 คน
ระยะเวลาจัดทำแผ่นเงินลงถมลวดลาย (ถมกลับ) : 98 วัน